การ ฟ้อนของภาคอีสานนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ที่ผู้ชมสามารถแยกแยะได้ทันทีว่าต่างจากภาคอื่นๆ แม้จะไม่มีการประกาศให้ทราบล่วงหน้าก่อนการแสดงซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้
- ท่วงทำนองของดนตรี จังหวะ ลีลาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น มีความสนุกสนานเร้าใจแตกต่างจากภาคอื่นๆ ของไทย
- การแต่งกายของผู้แสดง ทั้งนักแสดงหญิงและชายจะมีความเด่นชัด ในฝ่ายหญิงจะนุ่งซิ่นมัดหมี่ สวมเสื้อแขนกระบอก ห่มผ้าสไบหรือแพรวา ผมเกล้ามวย ฝ่ายชายจะสวมเสื้อม่อฮ่อม นุ่งโสร่งผ้าลายเป็นตาๆ ก็พอจะบอกได้ว่าเป็นการแสดงของอีสาน
- เครื่องดนตรี นับเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของภาคอีสานอบ่างชัดเจน พิณ แคน โปงลาง โหวด ไหซอง กลองตุ้ม ถึงแม้จะยังไม่มีการบรรเลงก็พอจะบอกได้ว่า การแสดงต่อไปนี้จะเป็นการแสงของภาคอีสาน
- ภาษาอีสาน แน่นอนว่าเป็นภาษาเฉพาะถิ่นที่มีสำเนียงที่แตกต่าง เป็นการชี้ชัดว่าเป็นการแสดงของภาคอีสาน
ท่า ฟ้อนของภาคอีสานนั้นมีความเป็นอิสระสูง ไม่มีข้อจำกัดตายตัวทั้งมือและเท้า ส่วนใหญ่ท่าฟ้อนจะได้มาจากท่าทางหรืออริยาบถธรรมชาติ และมีท่าพื้นฐานที่แตกต่างกันไปเฉพาะถิ่น เช่น ฟ้อนผู้ไท ฟ้อนผีฟ้า ฟ้อนไทยดำ เรือมอันเร เป็นต้น
ถึงแม้จะมีความคิดที่จะพยายามกำหนดท่าฟ้อนของภาคอีสานให้เป็นแบบฉบับขึ้น มีหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับนาฏศิลป์ภาคกลางที่มี "ท่าแม่บท" เป็นพื้นฐานในการฟ้อนรำนั้น เป็นแนวคิดหนึ่งที่ต้องการให้การฟ้อนภาคอีสานมีระบบ และหลักเกณฑ์ที่แน่นอนขึ้น ซึ่งไม่น่าจะเป็นแนวคิดที่ถูกต้องนัก เพราะจะเป็นการตีกรอบให้ตัวเองมากเกินไป ซึ่งตามจริงแล้วท่าฟ้อนของอีสานมีความเป็นอิสระไม่มีการกำหนดท่าแน่นอนตาย ตัวว่าเป็นท่าอะไร ขึ้นอยู่กับผู้ประดิษฐ์ท่ารำจะตั้งชื่อว่าเป็นท่าอะไร ความเป็นอิสระนี่เองที่ทำให้เกิดท่าฟ้อน ชุดใหม่ๆ ที่แปลกตา สวยงามยิ่งขึ้น
ท่าฟ้อนที่เป็นแม่แบบส่วนใหญ่นำมาจากกลอนลำ ซึ่งเรียกว่า "กลอนฟ้อน" เป็นกลอนยาวใช้กลอนเจ็ดแปดหรือกลอนเก้าแล้วแต่ผู้แต่งถนัดแบบใด การฟ้อนเป็นศิลปอันหนึ่งที่มาพร้อมกับการลำ การฟ้อนจะมีกี่แบบไม่ปรากฏแน่ชัด แต่หมอลำจะแต่ง กลอนฟ้อนแบบต่างๆ ไว้ ในขณะที่ลำหมอลำจะฟ้อนแสดงท่าทางตามกลอนที่แต่ง ดูแล้วเป็นการสนุกสนาน เช่น กลอนฟ้อน ของหมอลำเปลี่ยน วิมลสุข
มีความพยายามในการแบ่งท่ารำภาคอีสานออกมาให้ชัดเจนซึ่งมีหลายสำนัก เช่น จิราภรณ์ วุฒิพันธ์ (นาฏศิลป์อีสาน) ได้แบ่งออกเป็น 32 ท่า ดังนี้
|
|
ส่วน วิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ดได้คิดประดิษฐ์ชุดฟ้อนขึ้นโดยกำหนดว่าท่าแม่บท อีสานมีอยู่ 48 แม่ท่า เช่น ท่าพรหมสี่หน้า ท่าทศกัณฑ์เกี้ยวนางมณโฑ ท่าช้างเดินตามแม่ ท่าช้างชูงวง ท่ากาเต้นก้อน ท่ากากางปีก ท่าหลีกแม่เมีย ท่าลมพัดพร้าว ท่าท่าเสือออกเหล่า ท่าเต่าลงหนอง ท่าคนขาแหย่ง ท่าปู่สิงหลาน ท่าผู้เฒ่าฟังธรรม ท่าเกียจับไม้ ท่าบินนางมโนราห์ เป็นต้น
ลักษณะท่ามือและท่าเท้าการฟ้อนพื้นบ้านอีสาน
- ท่ามือ ถ้าพิจารณาการเคลื่อนไหวของมือ คงเหมือนกับคำกล่าวที่ว่าท่าฟ้อนของอีสานเหมือน "ม่อนท่าวใย" คงเห็นภาพพจน์ได้ดีจากการฟ้อนของหมอลำที่หมุนมือพันกันคล้ายกับตั่วม่อนชัก ใยพันตัว ท่าฟ้อนของภาคอีสานนั้นได้มาจากธรรมชาติคือมีความเป็นอิสระ ขึ้นอยู่กับลีลาของผู้ฟ้อนที่จะขยับมือเคลื่อนกายไปอย่างไร
- การจีบมือ ของชาวอีสานนั้นนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ไม่จดกัน จะห่างกันเล็กน้อยซึ่งแตกต่างจากการจีบของภาคกลาง ไม่สามารถเอาหลักนาฏศิลป์ของภาคกลางมาจับท่าฟ้อนของชาวอีสานได้ เพราะไม่สามารถบอกได้ว่าจะจีบหงาย จีบคว่ำตอนไหน
- ท่าเท้า ท่าเท้าของการฟ้อนแบบอีสานมีลีลาแตกต่างจากภาคกลางเช่นเดียวกัน ซึ่งพอจำแนกท่าเท้าที่ใช้ในการฟ้อนได้ดังนี้
- ท่าซอยเท้า เช่น การรำเซิ้ง การซอยเท้าให้เข้าจังหวะกลอง โดยเปิดส้นเท้าเล็กน้อย ย่อเข่ายกส้นเท้าขึ้นไปด้านหลังให้มากที่สุด ซอยเท้าอย่างสม่ำเสมอ การรำเซิ้งนั้นมิใช่ยกเท้าให้ส้นเท้าสูง หรือยืนโดยอาศัยปลายเท้าคล้ายการเต้นบัลเล่ย์ซึ่งดูแล้วตลกผิดธรรมชาติ แต่เป็นการเปิดส้นเท้าเพียงเล็กน้อยเพื่อสะดวกในการซอยเท้า ซึ่งท่านี้ก็ไม่ใช่การย่ำเท้าอยู่กับที่โดยเหยียบเต็มฝ่าเท้า
- ท่าเท้าของผู้ไทเรณูนคร การฟ้อนผู้ไทเรณูนครนอกจากจะมีการก้าวเดินตามธรรมดาแล้ว ยังมีอีกท่าหนึ่งซึ่งเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะของเรณูนครเท่านั้น คือมือบนจีบข้างหูโดยปลายนิ้วที่จีบจะหันเข้าข้างหู แล้วส่งจีบผ่านใต้รักแร้ไปด้านหลัง แทงปลายมือไปด้านหน้าในลักษณะคว่ำมือม้วนมือมาจีบไว้ข้างหูดังเดิม สลับกันไปทั้งมือซ้ายและมือขวา คือ ถ้ามือซ้ายจีบไว้ข้างหู มือขวาก็จะส่งไปข้างหลัง
ส่วนท่าเท้าก็จะใช้ 4 จังหวะ คือ ขย่มตัว 2 จังหวะ ถ้ามือไหนส่งหลังกำลังจะแทงไปข้างหน้า ก็ใช้เท้าด้านนั้นแตะพื้น 4 ครั้ง อีก 2 จังหวะ โดยครั้งที่ 4 จะเหยียบขย่มตัว 2 จังหวะ ใช้เท้าอีกข้างหนึ่งแตะพื้น 4 ครั้ง แล้วเหยียบกันไปมาซึ่งจะสอดคล้องกับท่ามือที่เคลื่อนไหวไปมา - ท่าเท้าของผู้ไทกาฬสินธุ์ ท่าเท้าของการฟ้อนผู้ไทในจังหวัดกาฬสินธุ์และการฟ้อนโปงลางจะใช้ท่าก้าวเท้า เช่นเดียวคือ การก้าวไขว้เท้าโดยเตะเท้าไปข้างหน้าก้าวไขว่ขย่มตัว ชักเท้าหลังเตะไปด้านหน้าไขว่เท้าขย่มตัวสลับกันไป ลักษณะคล้ายกับการเต้นควิกสเต็ป ที่แตกต่างกันก็คือการเตะเท้าไปข้างหน้า นอกนั้นใช้หลักการก้าวเท้าเช่นเดียวกับการเต้นควิกสเต็ป
- ท่าสืบเท้าหรือกระถดเท้าไปด้านข้าง ท่านี้จะใช้ในการฟ้อนผู้ไทในจังหวัดกาฬสินธุ์ เช่นกัน เป็นการก้าวชิดก้าว แต่เป็นการก้าวเท้าไปทางด้านข้าง มีลักษณะเช่นเดียวกับการสไลด์เท้าไปทางด้านข้างนั่นเอง
ชุด ฟ้อนของภาคอีสานส่วนใหญ่จะใช้การก้าวเท้าลักษณะเดียวกับการรำเซิ้ง จะมีพิเศษอีกแบบหนึ่งคือ ท่าเท้าของผู้ชายในการฟ้อนผู้ไท จะใช้ลีลาการก้าวเท้าของการรำมวยที่เรียกว่า การรำมวยลาว หรือรำมวยโบราณ ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอีกแบบหนึ่ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น